ออโต้สวิทคืออะไร

เมื่อระบบไฟฟ้ามีปัญหาหรือเกิดไฟฟ้าดับ ระบบ ATS (Automatic Transfer Switch) จะช่วยสลับการจ่ายไฟฟ้าอัตโนมัติจากแหล่งพลังงานหลักไปยังเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง เพื่อให้ระบบไฟฟ้ายังคงทำงานได้ต่อเนื่อง หลักการทำงานนี้ช่วยเพิ่มความเสถียรให้กับระบบไฟฟ้า ทั้งในบ้านพักอาศัยและโรงงานอุตสาหกรรม

ATS (Automatic Transfer Switch) หรือสวิตช์สลับอัตโนมัติ คืออุปกรณ์ที่ทำหน้าที่สลับแหล่งจ่ายไฟฟ้าโดยอัตโนมัติระหว่างแหล่งพลังงานหลักและแหล่งพลังงานสำรอง เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้าหรือ UPS (Uninterruptible Power Supply) เพื่อให้แน่ใจว่าอุปกรณ์และระบบไฟฟ้าสำคัญยังคงทำงานได้อย่างต่อเนื่อง แม้ในกรณีที่แหล่งจ่ายไฟหลักเกิดขัดข้องหรือหยุดทำงาน

ทำไมจึงควรติด ATS สลับไฟ
การติดตั้ง ATS สลับไฟช่วยให้การจ่ายไฟฟ้าต่อเนื่อง ลดความเสี่ยงจากการหยุดทำงานของระบบเนื่องจากปัญหาการจ่ายไฟขัดข้อง อีกทั้งยังเพิ่มความปลอดภัยและลดโอกาสความเสียหายที่อาจเกิดกับอุปกรณ์และระบบไฟฟ้า ด้วยการจัดการการสลับแหล่งจ่ายไฟอัตโนมัติ โดยไม่ต้องการการเฝ้าดูแลจากมนุษย์

ซึ่ง ATS มักถูกใช้ในสถานที่ที่ต้องการความน่าเชื่อถือสูงในการจ่ายไฟฟ้า เช่น โรงพยาบาล ศูนย์ข้อมูล (Data Center) สถานีตำรวจ และศูนย์ควบคุมการจราจร เป็นต้น

หลักการทำงานของ Automatic Transfer Switch สามารถแบ่งออกเป็น 2 การทำงานหลัก ดังนี้

การควบคุมสวิตช์
การทำงานของ ATS ถูกควบคุมโดยการตรวจสอบและกำหนดค่าสภาวะต่างๆ ของแหล่งจ่ายไฟหลักและแหล่งพลังงานสำรอง ดังนี้

ATS จะตรวจสอบแรงดันและความถี่ของไฟฟ้า หากเกินหรือต่ำกว่าค่าที่กำหนด (Over/Under) จะทำการสลับแหล่งจ่ายไฟอัตโนมัติ
การตั้งค่าต่างๆ สามารถตั้งแยกได้ สำหรับทั้งฝั่งแหล่งจ่ายไฟปกติ (Normal) และแหล่งจ่ายไฟสำรอง (Emergency) โดยอิสระ
สามารถตั้งค่าให้เครื่องทำการกลับคืนสู่สภาวะปกติเมื่อแรงดันและความถี่กลับมาเป็นปกติ ตามค่าเงื่อนไขที่กำหนด หรือปรับตั้งค่าเวลาในการสลับแหล่งจ่ายไฟ (Time Delay) เช่น Main Failure Timer, Delay on Transfer Timer, Main Return Timer และ Cool Down Timer เป็นต้น

การแสดงค่าต่างๆ ของเครื่องเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบสถานะการทำงานได้ ดังนี้

LED แสดงสภาวะการทำงานของสวิตช์ว่าตอนนี้อยู่ในตำแหน่งใด
แสดงแหล่งจ่ายไฟที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน
LED โชว์ “FAULT” เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ชุดควบคุมสั่งงานแล้วแต่ ATS ไม่ทำงานตามฟังก์ชันที่กำหนด
แสดงค่าแรงดันและความถี่ของทั้ง 2 แหล่งจ่ายไฟ
สามารถดูค่าทางไฟฟ้าอื่นๆ ได้ด้วย เช่น กระแส กำลังไฟฟ้า และค่าเพาวเวอร์แฟคเตอร์ (Power Factor)

Automatic Transfer Switch มีทั้งหมดกี่แบบ? คำตอบคือ 2 แบบ ซึ่งสามารถแบ่งตามกลไกและวงจรการทำงานได้ดังนี้

Automatic Transfer Switch แบบ Cuircuit Breaker
เซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit Breaker) คืออุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันการลัดวงจรหรือการใช้งานไฟฟ้าเกินพิกัดในระบบไฟฟ้า โดยจะเชื่อมต่อกันแค่ 2 ตัว และสามารถปิดเบรกเกอร์ได้ตามต้องการเมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดปกติ

Automatic Transfer Switch แบบ Contactor
คอนแทคเตอร์ (Contactor) มีการทำงานที่รวดเร็วในการสลับไฟฟ้าเมื่อเทียบกับแบบเซอร์กิตเบรกเกอร์ ซึ่งจะช่วยลดเวลาในการถ่ายโอนไฟฟ้าไปยังแหล่งจ่ายไฟสำรอง คอนแทคเตอร์มักใช้ในระบบควบคุมมอเตอร์หรือการทำงานของเครื่องจักรขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถตอบสนองได้ทันเวลาและมีประสิทธิภาพสูง

ข้อดีของ ATS คือการช่วยเพิ่มความเสถียรในระบบไฟฟ้า ดังนี้

ระบบ ATS ดีต่อเครื่องปั่นไฟ
ระบบ ATS ใช้ร่วมกับเครื่องปั่นไฟเพื่อให้การจ่ายไฟฟ้าต่อเนื่องและทำงานอัตโนมัติ เมื่อแหล่งจ่ายไฟหลักเกิดปัญหา ATS จะสลับไฟไปยังเครื่องปั่นไฟโดยอัตโนมัติ ลดความเสี่ยงและเพิ่มความปลอดภัยโดยไม่ต้องพึ่งพามนุษย์ และสามารถสลับแหล่งจ่ายไฟได้ภายในไม่กี่วินาที จึงทำให้ลดเวลาในการเจอกับสถานการณ์ขาดแคลนไฟฟ้า

ช่วยให้ระบบไฟฟ้าจ่ายไฟได้ต่อเนื่อง
ATS จะสลับไฟเมื่อแหล่งจ่ายไฟหลักเกิดปัญหา เช่น ไฟฟ้าดับหรือไฟกระชาก โดยช่วยให้การจ่ายไฟฟ้าต่อเนื่องโดยไม่เกิดการหยุดชะงัก ปัจจุบัน ATS ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในโรงงานอุตสาหกรรม อาคารพาณิชย์ โรงพยาบาล เรือนจำ แผนกดับเพลิง องค์กรป้องกันประเทศ และหน่วยงานตำรวจ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อทรัพย์สินและความปลอดภัยของชีวิตในภายหลัง

เหมาะกับพื้นที่ที่คับแคบ
ATS เหมาะสำหรับการใช้งานคู่กับเครื่องปั่นไฟในพื้นที่จำกัด โดยเฉพาะในกรณีที่เครื่องปั่นไฟตั้งอยู่ในพื้นที่คับแคบ หรืออาจจะอยู่ด้านบนที่ต้องใช้บันไดในการเข้าถึง ซึ่งอาจทำให้ไม่สะดวกและเป็นอันตรายได้ ดังนั้น ATS จึงมีบทบาทในการควบคุมและสลับไฟจากระยะไกล เพื่อเพิ่มความสะดวกและความปลอดภัยในการใช้งาน

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ ATS สลับไฟ
นอกจากข้อดีมากมายของ ATS แล้ว ยังมีสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการใช้งานและการบำรุงรักษา ATS ดังนี้

ATS สลับไฟมีราคาที่สูงเมื่อเทียบกับสวิตช์แบบ Manual
การติดตั้ง ATS จำเป็นต้องมีการออกแบบอย่างรอบคอบและการตั้งค่าจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ระบบทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หากไม่มีการบำรุงรักษาที่เหมาะสม ระบบอาจเสี่ยงต่อการขัดข้องหรือทำงานผิดพลาด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการจ่ายไฟฟ้า
สรุป
ATS (Automatic Transfer Switch) คืออุปกรณ์ที่ใช้สลับแหล่งจ่ายไฟอัตโนมัติระหว่างแหล่งจ่ายไฟหลักและแหล่งจ่ายไฟสำรอง เช่น เครื่องปั่นไฟ หรือ UPS เมื่อแหล่งจ่ายไฟหลักขัดข้อง มี 2 แบบหลักคือ แบบคอนแทคเตอร์ (Contactor Type) และแบบเซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit Breaker Type)

การติดตั้ง ATS ช่วยให้การจ่ายไฟฟ้าไม่หยุดชะงักโดยอัตโนมัติเมื่อไฟหลักขัดข้อง เพิ่มความปลอดภัย ลดความเสี่ยงจากความเสียหาย ซึ่ง Chuphotic มีเครื่องปั่นไฟที่สามารถใช้งานร่วมกับระบบ ATS ได้ เพื่อให้การจ่ายไฟฟ้าต่อเนื่องและอัตโนมัติ เมื่อเกิดปัญหากับแหล่งจ่ายไฟหลัก

Visitors: 788,801